Published on 11 สิงหาคม 2024 , 5:58 pm

ทุกการรับฟังคือประตูสู่การเยียวยา T.REST ART THERAPY STUDIO สตูดิโอบำบัดจิตใจ ในวันที่เหนื่อยล้า โดยนักศิลปะบำบัด

“เป็นคนยุคนี้..ก็เหนื่อยหน่อยนะ”

ในยุคกระแสสังคมที่มาไวไปไว เริ่มมีการพัฒนาในทุก ๆ ด้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนในปัจจุบันต้องแข่งขันกันเพื่อประสบความสำเร็จ จนเกิดความเครียดไม่รู้ตัว มักกดดันตัวเองด้วยคำว่า “อายุเท่านี้ จะต้องมีสิ่งนี้เป็นของตนเองได้แล้วนะ” คำพูดเหล่านี้ได้สร้างบาดแผล ความเจ็บปวด และบั่นทอนจิตใจของคนในสังคมเป็นจำนวนมาก จนต้องลงเอยด้วยการพบจิตแพทย์

“ปัจจุบันคนในสังคมเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น”

ประโยคข้างต้นสำหรับเราคงไม่เกินจริง ด้วยเทคโนโลยีที่เริ่มมาไว กระแสสังคมที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น คนเริ่มมีบทบาทบนโลกอินเตอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลาย มีอิสระ และเสรีทางความคิด ทำให้หลายครั้งคำพูดที่ไม่ได้กลั่นกรองเป็นอย่างดี ส่งไปถึงผู้รับสารนี้ เกิดการบั่นทอนความรู้สึกของคนฟัง รวมไปถึงต้องแข่งขันกับคนอื่นเพื่อความอยู่รอดในสังคม ก็ทำให้เราละเลยความสำคัญในเรื่องสุขภาพจิตของตัวเองไป แต่ถ้าหากรู้ตัวเร็ว ก็รักษาได้เร็ว และรับมือกับมันได้ทันเวลา หากรู้ตัวช้าเราอาจตกอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากจนไม่อาจรับมือกับมันได้อีกเลย

ด้วยสาเหตุนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ iwelty เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้  ‘T.REST ART THERAPY STUDIO’  สตูดิโอศิลปะบำบัด (Art Therapy) ที่เปรียบเสมือนพื้นที่ให้เราได้ลองมาสำรวจตัวเอง ผ่านมุมมองของผลงานศิลปะ ที่เป็นมากกว่าแค่คำว่า “ศิลปะเพื่อการผ่อนคลาย” เพราะที่นี่จะให้เราได้ลองเรียนรู้ตัวเอง รู้จักอารมณ์ของตัวเอง และพูดคุยปัญหากับนักศิลปะบำบัด ‘เมย์-ฐิตารีย์ อรุณเวช’ อายุ 28 ปี ผู้หญิงตัวเล็กที่ใบหน้าเปื้อนไปด้วยรอยยิ้มตลอดเวลา ศิลปะที่ไร้ขีดจำกัดของเพศ อายุ อาชีพ รวมถึงปัญหาในรูปแบบต่างๆ บรรยากาศรอบ ๆ เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจีที่ไม่สูงไม่ใหญ่จนเกินไป ติดริมถนนใหญ่ของกรุงธนบุรี ภายในตกแต่งด้วยผนังสีขาวสะอาดสบายตา 

T.REST ART THERAPY STUDIO ตั้งอยู่ที่วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ซ่อนตัวภายใต้บ้านหลังเล็ก ๆ ที่มีต้นไม้ปกคลุม ติดกับถนนใหญ่ที่มีรถผ่านไปผ่านมา บริเวณรรอบข้างๆ เป็นตึกสูงใหญ่ระฟ้า ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสถานที่แสนวิเศษที่หลบซ่อนภายใต้เมืองแห่งความวุ่นวาย แต่เมื่อสำรวจไปรอบๆ ก็เกิดนึกสงสัยถึงชื่อร้านว่า T.REST นั้นมาจากอะไร พร้อมหันไปเห็นป้ายโลโก้ของร้านที่ให้รู้ทรงเป็นวงกลมใหญ่สีฟ้า มีตัว T (ที) ผ่าไว้ตรงกลาง 

เมื่อย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น คุณเมย์เล่าให้เราฟังว่าเรียนจบจิตวิทยา และมีความตั้งใจอยากเรียนเสริม จึงได้มาเรียนต่อในด้านศิลปะบำบัด ที่ไม่ได้ต้องการเรียนเพื่อมาเป็นนักศิลปะบำบัด แต่อยากเรียนอะไรที่สามารถทำให้เข้าใจตัวเองได้มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาตัวเองได้มากขึ้น

“พอเริ่มเรียนเราเห็นว่ามีประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ให้ประโยชน์แก่เราได้ มองภาพกว้างมากขึ้น เราสามารถนำสิ่งนี้ไปให้คนอื่น ช่วยคนอื่นได้อย่างไรบ้าง ก็เลยเป็นเหตุผลที่อยากทำงานตรงนี้ สาเหตุทำงานตรงนี้ ก็เหมือนมีคำถามเราจะต้องทำที่ไหนในสังคมไทย มันเป็นเรื่องยากที่คนจะเปิดรับเกี่ยวกับการทำงานเกี่ยวกับสุขภาพจิต มีพื้นที่ค่อนข้างน้อยเกี่ยวกับสุขภาพจิต แตกต่างจากต่างประเทศ และเราอยากทำงานที่มันหลากหลายกลุ่ม ประจวบเหมาะกับที่เรามีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานประจำมาก่อน เลยรู้สึกว่ามีเส้นทางเดียวที่เราสามารถทำอะไรก็ได้ตามที่เราใฝ่ฝัน คือการเปิดสตูดิโอของตนเอง” คุณเมย์เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นในการเปิดสตูดิโอศิลปะบำบัดแห่งนี้ 

“T.Rest ตอนที่คิดเป็นอะไรที่ยากมาก ความคิดเลยมาจากโลโก้ก่อน ใจเราตอนนั้นอยากให้เป็นวงกลมก่อนในเชิงของรูปทรง วงกลมเป็นอะไรที่ไม่ตายตัว ส่วนการบำบัด วงกลมเปรียบเสมือนเวงจรชีวิต และเรารู้สึกว่าเราอยากใส่ชื่อตัวเองเข้าไป T (ฐิตารีย์) เข้าไป พอเอามาต่อกันมันเลยกลายเป็นต้นไม้ (วงกลม+ตัวอักษร T) และเรามานั่งคิดต่อ เราอยากให้มันเหมือนเป็นที่พัก เลยเติมคำว่า Rest เมื่อนำมาต่อกันจะเป็น T.Rest ที่แปลว่าที่พัก และอีกนัยหนึ่งอาจจะมองได้ว่า ตัว T เปรียบเสมือนต้นไม้  เพราะสตูดิโอรายล้อมไปด้วยต้นไม้ เนื่องจากเราอยากให้บรรยากาศสำหรับคนที่มาไม่ได้รู้สึกว่ามันเครียด เพราะหลายคนคิดว่าเวลามาบำบัดจะต้องเครียด อยู่ในห้องแคบ ๆ ทึบ ๆ เราจึงอยากให้ทุกคนรู้สึกว่าไม่ได้มาบำบัด แต่มาพักที่บ้าน”

ศิลปะ ไม่ใช่ความผ่อนคลาย แต่เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เปิดใจเล่าปัญหา

มาถึงขั้นตอน Workshop ในครั้งนี้เราได้ลองทำ Re•tie คือนำผ้า เชือก ไหมพรม มาผูกไว้บนเชือกที่ขึงไว้บนผ้าใบสี่เหลี่ยม เพื่อสำรวจ และทำความเข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรา (Your Relationships) จากประสบการณ์ในอดีต ให้ความสำคัญกับมุมมองในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การวางแผนที่ดีในอนาคต เราในตอนนั้นกำลังอยู่ในช่วงกำลังค้นหาคำตอบของชีวิต จึงได้รับคำในการทำ Workshop ในครั้งนี้

คุณเมย์อธิบายให้เราเข้าใจอย่างใจเย็นว่าแต่ละขั้นตอนมีวิธีการอย่างไร สำหรับเราถือว่าเป็นกิจกรรมบำบัดที่แปลกใหม่ไม่เคยทำมาก่อน เราเลือกหยิบผ้าแต่ละสีที่เราต้องการ และของตกแต่งที่ชอบมาพอประมาณ บรรยากาศในตอนนั้นมีแต่ความว่างเปล่า คุณเมย์นั่งมองเงียบ ๆ อยู่ข้างหลังเพื่อปล่อยให้ได้ใช้เวลากับตนเองในเวลา 60 นาที ผ้าแต่ละสีที่ใช้ล้วนแฝงความหมายไว้ตั้งแต่ ปัจจุบัน อดีต และอนาคต ตามลำดับ มีทั้งความกดดัน เครียด เพราะเราไม่เก่งศิลปะ และไม่เคยทำกิจกรรมแบบนี้ จึงได้เกิดคำถามว่า “ศิลปะ คือความผ่อนคลายจริงหรือ?” คุณเมย์ ตอบกลับเรามาว่า

“ศิลปะ เป็นมากกว่าความพักผ่อน จริง ๆ แล้วถ้าเราพูดถึงศิลปะ คนที่เก่งศิลปะ คงมองว่ามันคือความพักผ่อน แต่หากนำคำนี้ไปพูดกับคนที่ไม่ถนัด หรือไม่คุ้นชิน จะมองว่าเครียด เพราะศิลปะที่เราถูกปลูกฝังกันมา ต้องวาดให้สวย ต้องวาดให้เป๊ะ ต้องมีคะแนน ดังนั้นเราจึงมองว่าศิลปะไม่ได้เป็นความผ่อนคลายสำหรับคนบางกลุ่ม ถ้าศิลปะนั้นมีกรอบ มีกฎเกณฑ์ แต่พอใส่คำว่าบำบัดต่อท้าย การบำบัดมันไม่ตายตัว การบำบัดมันเป็นการที่เราเข้าไปทำความรู้จัก เข้าไปทำความเข้าใจคน ๆ นั้น เพราะว่าคนนั้น ๆ คือใครก็ได้ คำว่าใครก็ได้ ก็หมายถึงทุกคนที่มีความเป็นปัจเจก ทุกคนมีความแตกต่าง ไม่มีรูปแบบตายตัว ดังนั้นพอเราใส่คำว่าบำบัดต่อท้ายศิลปะ มันเลยกลายเป็นว่า การทำศิลปะที่ไม่มีผิด ไม่มีถูก ไม่มีรูปแบบชัดเจน ทุกคนสามารถแสดงออกผ่านงานศิลปะได้แตกต่างกัน” 

ไม่มีประโยคไหนที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริงเลย เพราะหลังจากผ่านไปสักระยะเวลาหนึ่ง จากคนที่นั่งกดดันกับผลงานตนเอง กลายเป็นว่าผ่อนคลายมากขึ้นหลังจากพุดคุยปัญหากับคุณเมย์ กล้าที่จะเปิดใจในการเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในอดีต และปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญให้คนไม่สนิทฟัง อาจจะไม่ได้ลงลึกเกี่ยวกับปัญหามากเท่าไหร่ แต่ไม่กี่ประโยคของคุณเมย์ที่พูดกับเรา มันทำให้เหมือนได้ปลดล็อคอะไรบางอย่างอยู่ข้างในจิตใจได้ดีทีเดียว

สถานที่แห่งนี้ไม่ใช่เพียงให้เรามานั่งทำศิลปะ แต่สถานที่แห่งนี้มี “นักบำบัด” ที่ช่วยเปิดประตูใจของเราให้ได้เปิดรับสิ่งที่ดีเข้ามา ถ้าเราผูกผ้าแต่ละสีไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ได้พูดคุยกับคุณเมย์ คุณเมย์จะรับรู้ปัญหาที่แฝงความหมายในผลงานเราจริงหรือ แต่กลับรับรู้ปัญหาของผ้าแต่ละชิ้นทั้งหมดจากการสังเกต และการพูดคุยปัญหาเรื่องราวของเราเพิ่มเติม

ในฐานะผู้ได้ร่วมทำการบำบัด เราล้วนมีปัญหาเหมือนกับใครหลาย ๆ คน จากความกดดันในหน้าที่การงาน การใช้ชีวิต ความต้องการประสบความสำเร็จเหมือนที่ใครหลายคนวาดฝันไว้ แต่หลายครั้งความฝัน และสิ่งที่คิดมักเกิดอุปสรรคจากปัจจัยทางสังคมหลายๆ อย่างจนเกิดภาวะความเครียด 

“อายุเท่านี้เอง มีเวลาทำอะไรได้ตั้งเยอะแยะ ไม่เห็นต้องรีบทำมันทั้งหมดเลย” 

ประโยคที่คุณเมย์พูดกับเราในช่วงที่เรากำลังเผชิญในสภาวะที่ยากลำบากในชีวิต มันทำให้เราได้ตกตะกอนความคิดในอะไรบางอย่าง และหันกลับมารักตัวเอง และรู้คุณค่าตัวเองมากขึ้น 

สำหรับเราถ้าให้พูดถึงงานศิลปะครั้งนี้ คงต้องบอกว่านี่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น แต่คือ “คุณเมย์ นักศิลปะบำบัด” คนนี้เองต่างหากที่ทำให้เราได้สุขภาพจิตที่ดี ได้ปลดล็อคปัญหาที่อยู่ในใจให้คลี่คลายลง คุณเมย์จะคอยสังเกต รับฟังปัญหาของเราอย่างตั้งใจ เปรียบเสมือนปัญหานั้นเป็นเรื่องของคนในครอบครัว คุณเมย์จะนั่งฟังเงียบๆ ก่อนจะให้คำปรึกษาที่ลึกซึ้ง และช่วยปลดเรื่องในอดีตที่เข้ามีผลกระทบในด้านจิตใจเราต่าง ๆ ที่มันอาจจะส่งผลไปยังอนาคต 

ดังนั้นคำว่า “ศิลปะ” และ “จิตวิทยา” มันสามารถผนวกเข้ามาผสมผสานเพื่อเรียนรู้ในเรื่องราวของแต่ละคนได้ เหมือนที่คุณเมย์ได้บอกกับเรา และทีมงานว่า

“เรากำลังพูดถึงจิตวิทยา กับศิลปะ จิตวิทยา มันคือ การเรียนรู้พฤติกรรมมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์จะทำอะไรนั่นคือล้วนเป็นจิตวิทยา ดังนั้นคุณสามารถมีโจทย์อะไรมาก็ได้ เพราะทุกคนก็มีโจทย์ของแต่ละคน แต่คราวนี้เครื่องมือของแต่ละคนที่ใช้คือ ศิลปะ เราเอาศิลปะเข้ามาใช้ในการแก้โจทย์เหล่านั้น ในการขบคิด หรือในการหาคำตอบโจทย์เหล่านั้น ถามว่าใช้เครื่องมือนี้กับเรื่องอะไรได้บ้าง ก็ต้องตอบว่าใช้ได้ทุกเรื่อง แต่อยู่ที่ว่าจะใช้มุมมองไหน ใช้ลึกแค่ไหน ใช้เพื่อสำรวจ หรือใช้เพื่อเข้าไปแก้ไขจัดการ แต่ความต่าง หรือความพิเศษ มันอาจจะมีเพิ่มตรงที่ว่า อะไรก็กลายเป็นศิลปะได้หมด ไม่ใช่แค่ต้องเพ้นท์อย่างเดียว บางทีการปั้นดิน การผูกเชือก การพับกระดาษ หรือบางทีเอาใบไม้มาติด อันนี้ก็เป็นศิลปะได้เหมือนกัน เหมือนในชีวิตประจำวัน มันมีเรื่องที่หลากหลาย พฤติกรรมมนุษย์ที่หลากหลาย ศิลปะก็เลยจะตอบโจทย์ในแง่ที่ว่า เราสามารถใช้ศิลปะมาเพื่อตอบโจทย์กับพฤติกรรมที่หลากหลายพวกนั้นได้”

การบำบัด เรื่องใกล้ตัวที่อยากส่งเสริมให้กลายเป็นเรื่องปกติของสังคม

หลังกิจกรรมเสร็จสิ้น ทำให้เราตกตะกอนถึงความจริง และช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นสังคมของเรายังมองว่าการบำบัดเป็นเรื่องอ่อนไหว และถูกมองว่าป่วยจึงรักษา แท้จริงแล้วการบำบัด คือการที่เราได้สำรวจตัวตนของตัวเอง อยากให้สิ่งนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว ที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน เหมือนที่เราใช้ชีวิตตื่นมา ทำงาน นอนหลับในทุก ๆ วัน

“ศิลปะบำบัด หรืออะไรที่เกี่ยวกับจิตใจ เมย์มองว่าเป็นอะไรที่ควรทำได้ทุกวัน ทำเหมือนชีวิตประจำวัน ไม่ต้องรอให้เจอหนักก่อนถึงค่อยมาเริ่มทำ ถ้าการที่เราสะสมทำวันละนิดวันละหน่อย พวกนี้มันเป็นอะไรที่ wellness เรียนรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ได้ยินเสียงความต้องการของตนเอง รู้ปัญหาที่ตัวเองกำลังเจอ แค่เราได้สำรวจตัวเองเรื่อย ๆ สำรวจความรู้สึก สำรวจสิ่งที่กิดขึ้น แล้วทำให้เหมือนชีวิตประจำวัน อย่างปกติเรา กิน นอน ทำงาน เราอาจจะเพิ่มสิ่งนี้เข้าไปในวงโคจรด้วย คุณอาจไม่จำเป็นต้องมาลงคอร์สราคาแพง แต่แค่หาเวลามาอยู่กับตัวเอง”

“เราอยากมีพื้นที่ตรงนี้เหมือนเป็นที่พัก เราได้รับที่ตรงนี้มาจากที่เราเรียนมา เราเลยอยากส่งต่อ และมันเชื่อมไปยังที่ว่าเราอยากให้มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายในชีวิตประจำวัน คุณคงไม่อยากใช้เงินจำนวนมากในการที่คุณทำสิ่งนี้บ่อย ๆ เมย์มั่นใจว่าคงไม่มีใครอยากใช้เงินมาในแง่ของการบำบัด หรือรักษาหรอก ทุกคนอยากใช้เงินไปช้อปปิ้ง เที่ยว ดังนั้นเราจึงตั้งราคาที่ให้คุณสามารถมาได้บ่อย ๆ มาได้เรื่อย ๆ ให้กลายเป็นสถานที่หนึ่ง ๆ ที่เขาจะได้ทำสิ่งนี้โดยไม่รู้สึกว่ามันลำบากจนเกินไป” 

มาถึงจุดนี้การพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่น เราถามคุณเมย์ว่า แล้วต้องมีปัญหาขนาดไหนถึงจะสามารถเข้ามารับการบำบัด หรือเข้ามาปรึกษาได้…. เพราะเราเชื่อว่าปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งบางคนอาจมองว่าปัญหาที่เจอนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อีกส่วนหนึ่งอาจจะมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ คุณเมย์จึงเล่าให้เล่าฟังต่อว่า

“สำหรับคนที่มาก็คือมีปัญหาตั้งแต่เรื่องเล็กมาก ๆ จนเรื่องใหญ่มาก ๆ แต่เราคงไม่ได้กำหนดว่าเรื่องใครเรื่องใหญ่หรือเล็ก น่าจะเป็นมุมมองของคนที่เข้ามารักษา ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นปัญหาแล้วมันทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ นั้นถือว่าคุณสามารถที่จะเข้ามาพุดคุยเพื่อจะคลี่คลายตรงนี้ได้ เมย์ก็เลยมองว่าปัญหาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ มันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่อาจจะซับซ้อนขึ้นหน่อยก็คงเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือว่าไบโพลาร์ หรือโรคจิตเวชอื่น ๆ ก็เข้ามารับบริการเหมือนกัน แต่ว่าคนกลุ่มนี้ก็ต้องได้รับการไปพบแพทย์ และต้องกินยาสม่ำเสมอ กินเพื่อให้นิ่งก่อน แต่อาจจะมีบางคนที่เริ่มรู้สึกถึงความไม่นิ่ง ไม่สบายใจ แต่อย่างที่บอกถ้าหากรู้ว่าตัวเองเริ่มไม่นิ่ง แต่ไม่อยากไปถึงขั้นนั้นจริงๆ ก็คือการมาเช็คตัวเอง เช็คปัญหาก่อน มันก็ช่วยได้”

และหากพูดถึง Workshop ของคุณเมย์ เห็นได้ว่าจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ระหว่าง private workshop กิจกรรมที่เราได้ทำ และ Individual session คุณเมย์ ก็อธิบายให้เราฟังว่า

“private workshop จะเป็นสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกับที่อื่น เพราะหลายคนจะคิดว่า workshop จะหมายถึงกิจกรรมที่ทำกับคนเยอะ ๆ แต่ในมุมของเมย์ เราค่อนข้างชอบการบำบัดเดี่ยวมากกว่า เรารู้สึกว่า เราสามารถย่อ workshop ให้กลายเป็นแบบเดี่ยวได้ ความต่างที่เรามองคือ คุณจะได้โฟกัสอยู่กับตัวเอง เพราะบางทีเวลามีคนอื่นอยู่รอบ ๆ จะมีการหวงภาพลักษณ์ มีการเปรียบเทียบ ซึ่งมันทำให้คุณไม่เป็นตัวของตัวเองได้เต็มร้อยเท่าเวลาคุณอยู่คนเดียว ผลงานเวลาที่คุณอยู่คนเดียว หรือสิ่งที่คุณพูดออกมาเวลาอยู่คนเดียว มันก็จะมีความจริงในแง่ที่แบบคุณไม่ต้องกังวลอะไร เมย์ก็มองว่าตรงนี้คือสิ่งหนึ่งที่อยากจะให้คนได้ลองมาสัมผัส”

“Individual session การทำบำบัดแบบยาว คือบำบัดเชิงลึก ซึ่งจริง ๆ เมย์จะทำตรงนี้เป็นหลัก คนที่มีปัญหาแล้วมาทำระยะยาว ข้อดีคือคุณจะสามารถแก้ปัญหานั้น รวมถึงเข้าใจตัวเองในองค์รวมได้ เพราะว่าในหนึ่งปัญหาจะสามารถกระทบตัวตนของเราในทุกมิติอยู่แล้ว ดังนั้นคุณจะได้เห็นตัวเองในมิติอื่น ๆ และมีประสิทธิภาพได้ดีกว่าในระยะยาว”

การมา workshop ในครั้งนี้กับคุณเมย์ นอกจากจะได้ละเลงความรู้สึกผ่านผืนผ้าหลากสีแล้ว เรายังได้ “สำรวจจิตใจตัวเอง” ผ่านผลงานศิลปะ และพูดคุยกับนักบำบัดมืออาชีพที่จะช่วยให้เราได้ปลดล็อคสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจ หวังว่า workshop นี้จะช่วยให้ใครหลาย ๆ คนได้ลองมาสำรวจตัวเอง ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผ่านการร้อยเรียงเรื่องราวผ่านผลงานศิลปะ กับนักศิลปะบำบัด ที่เราเชื่อว่าปัญหาที่หนักอึ้งของทุกคนจะถูกคลี่คลายในไม่ช้าอย่างแน่นอน

“เมื่อคำพูดเป็นยา การรับฟังคือการรักษา”

ในปัจจุบันการบำบัด หรือการพบแพทย์ อาจจะถูกมองในเชิงลบ แต่ก็มีหลายภาคส่วน รวมถึงคนในสังคมที่พร้อมเปิดรับ และเปิดใจให้กับการเข้ามาดูแลสุขภาพ และมองว่าการได้เข้ามาบำบัดจิตใจตนเอง คืออีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดีผ่านการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ พร้อม ๆ ไปกับสำรวจจิตใจของตัวเองในแต่ละวัน ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ และความพยายามที่คุณทำย่อมมีคุณค่าเสมอ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร คุณได้ทำเต็มที่แล้ว หลายครั้งที่โลกใบนี้อาจจะไม่เป็นดั่งใจ แต่อยากให้ทุกคนเชื่อว่า ตราบใดที่ชีวิตนี้ยังเดินต่อไป ความปรารถนาที่เราต้องการ ในไม่ช้าก็จะเกิดผลขึ้นในสักวันหนึ่ง เหมือนกับ T.REST ART THERAPY STUDIO และคุณเมย์-ฐิตารีย์ อรุณเวช ที่เปิดสตูดิโอแห่งนี้ เพื่อเป็นที่ปรึกษา และได้มาปลดล็อกจิตใจให้กับทุกคน

T.REST ART THERAPY STUDIO เปรียบเสมือนสถานที่เรียนรู้จิตใจอีกแห่งที่ ไม่ใช่โรงพยาบาล ไม่ใช่สถานที่อันน่าอึดอัด แต่ที่นี่เป็นเหมือนดั่งกุญแจที่ซ่อนอยู่ในจิตใจ ที่รอให้เรานำกุญแจเหล่านี้มาไขเรื่องที่หนักอึ้งให้คลายออก ผ่านการเล่าเรื่องบน “ผลงานศิลปะ” และ “การให้คำปรึกษา” ผ่านนักศิลปะบำบัดที่จะคอยรับฟัง และโอบอุ้มหัวใจดวงเล็ก ๆ ของเราตลอดที่เราอยู่ที่นี่
เมื่อวันใดที่คุณเหนื่อยกับตัวเอง ลองไขประตูบานนี้เข้ามา แล้วมาพบกับเรื่องราวที่ดีที่รอให้ทุกคนได้ลองสำรวจจิตใจของตัวเอง ผ่านบ้านหลังเล็ก ๆ แห่งนี้ที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้เขียวขจี พร้อมผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่เธอจะคอยรับฟังเราอยู่เสมอ กับ T.REST ART THERAPY STUDIO พื้นที่บำบัดจิตใจ ที่พาให้เราได้พบคำตอบในวันที่รู้สึกหลงทางจากชีวิต

Comment :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Related Reviews