Published on 12 มีนาคม 2025 , 7:26 pm

เรกิ (Reiki) ศาสตร์การรักษาด้วยพลังงานชีวิตจากญี่ปุ่น

เรกิมีจุดกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการค้นพบและพัฒนาโดย มิคาโอะ อูซูอิ นักบวชชาวพุทธเซนในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ระหว่างปี ค.ศ. 1914-1926 อูซูอิมุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าวิธีการเยียวยาร่างกายและจิตใจเพื่อบรรลุความสงบสุขตามคำสอนของพุทธศาสนา หลังจากการบำเพ็ญทางวิปัสสนาเป็นเวลานาน ท่านเชื่อว่าได้รับการดลบันดาลจากพระพุทธองค์ให้ได้ค้นพบวิธีการถ่ายทอดพลังงานชีวิตผ่านมือนี้

เรกิอาศัยหลักการถ่ายทอดและส่งผ่านพลังงานชีวิต (Life Force Energy) หรือ “ชิ” ตามความเชื่อของศาสนาเชน จากผู้ให้การรักษาไปยังผู้รับการรักษา โดยมือของผู้ให้การรักษาจะทำหน้าที่เป็นตัวนำพลังงานนี้ การส่งผ่านพลังงานชีวิตจะช่วยกระตุ้นกระบวนการรักษาตนเองตามธรรมชาติของร่างกาย เพื่อคลายความตึงเครียด ลดอาการปวด ฟื้นฟูสมดุล และเพิ่มความสงบสุขทั้งทางกายและใจ

ในระหว่างการรักษา ผู้รับการรักษาจะนอนหรือนั่งอย่างผ่อนคลายในท่าสบาย ส่วนผู้ให้การรักษาจะวางมือไว้เหนือร่างกายของผู้รับการรักษาในบริเวณจุดรับพลังงานหลักต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสถูกตัว การรักษาแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ระหว่างนั้นผู้รับการรักษาอาจรู้สึกถึงความอบอุ่น ชาหรือตึงตามร่างกาย หรือรู้สึกผ่อนคลายและสงบเย็น

การรับมอบหรือสถาปนาสู่ผู้ให้การรักษาด้วยเรกิ จะมีขั้นตอนพิธีการฝึกฝนและปฏิบัติจนเป็นที่ยอมรับจากครูหรือผู้ฝึกสอน อาทิ การฝึกสมาธิ การศึกษาหลักการและวิธีการรักษา รวมไปถึงการรับพลังงานจากครูผู้สอนด้วย

ประโยชน์ของเรกิ

  • ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • ช่วยบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวล
  • ทำให้ผ่อนคลายและหลับได้ลึกขึ้น
  • ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า
  • ทำให้สมองปลอดโปร่งและแจ่มใส รับมือกับปัญหาในชีวิตได้ดีขึ้น
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและไมเกรน
  • ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยเรื้อรังต่าง ๆ
  • ช่วยสร้างสมดุลให้สนามพลังงาน
  • ช่วยคลี่คลายอารมณ์ลบที่สะสมอยู่จนปิดกั้นการไหลเวียนของพลังชีวิต
  • ทำอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้สุขภาพกายและจิตโดยรวมดีขึ้น

เรกิเป็นรูปแบบการบำบัดทางเลือกที่เหมาะสำหรับกลุ่มคนกว้างๆ ดังนี้

  1. ผู้ที่ต้องการผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวล เรกิช่วยส่งเสริมสภาวะผ่อนคลายและสงบนิ่ง ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่เผชิญกับความเครียดสูง ความวิตกกังวล หรือภาวะถูกเร่งรัดจากการทำงาน
  2. ผู้ที่ประสบปัญหาเรื่องการนอนหลับ การรักษาด้วยเรกิสามารถช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับได้ดีขึ้น จึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาการนอนไม่หลับ
  3. ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง แม้เรกิไม่ใช่การรักษาหลัก แต่มีการศึกษาบางส่วนที่ระบุว่าอาจช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรังได้ จึงเป็นทางเลือกเสริมที่น่าสนใจ
  4. ผู้สูงอายุ การรักษาด้วยเรกิเป็นวิธีที่ไม่รุนแรง ไม่มีผลข้างเคียง จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงวัย
  5. ผู้ที่สนใจการบำบัดแบบองค์รวม เรกิมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ดังนั้นจึงเหมาะกับผู้ที่นิยมการดูแลสุขภาพแบบผสมผสาน

อย่างไรก็ตาม คนที่มีภาวะเจ็บป่วยหนักหรืออยู่ในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนรับการรักษาด้วยเรกิ เนื่องจากอาจมีข้อควรระวังบางประการ

เรกิเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยมีผู้ให้การรักษาเรกิจำนวนมากและศูนย์ฝึกสอนในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้เชื่อและให้ความสนใจจำนวนมาก แต่เรกิก็ยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนในการยืนยันประสิทธิผลของการรักษารูปแบบนี้

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ส่วนใหญ่มักไม่ให้การยอมรับ แต่ก็ยังมีกลุ่มนักวิจัยที่พยายามศึกษาเพื่อทดสอบประสิทธิผลของเรกิด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยยอมรับในบางประเด็นว่า แม้จะไม่สามารถรักษาโรคร้ายแรงได้ แต่อาจช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล ส่งผลให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

แม้จะยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่เรกิก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้เสริมกับการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน สำหรับผู้ที่สนใจหรือประสบปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่ต้องการแนวทางผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ แต่ก็ควรระมัดระวังและไม่ควรใช้เรกิเป็นการรักษาหลักสำหรับโรคร้ายแรง

Source: เรกิ (Reiki) การบำบัดฟื้นฟูพลังชีวิตจากธรรมชาติ

Comment :

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Related Articles